อาการของโรค ไข้ปวดข้อยุงลาย/ไข้ชิคุนกุนยา (Chikungunya fever)ไข้ปวดข้อยุงลาย หรือไข้ชิคุนกุนยา* เป็นโรคติดเชื้อไวรัสชนิดหนึ่ง ซึ่งมีการระบาดได้รวดเร็ว ทำให้มีอาการไข้ ผื่นขึ้น และปวดข้อ ส่วนใหญ่มักจะเป็นไม่รุนแรงและหายได้เอง และไม่มีภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง นอกจากอาจทำให้มีอาการปวดข้อเรื้อรัง
*ชิคุนกุนยา (Chikungunya) เป็นภาษามากอนดี (แอฟริกา) แปลว่าตัวโค้งงอ เนื่องจากผู้ป่วยจะมีอาการปวดข้อมากจนตัวโค้งงอ จึงตั้งชื่อโรคนี้ตามลักษณะอาการของโรค
สาเหตุ
เกิดจากการติดเชื้อไวรัสชิคุนกุนยา มียุงลายสวน (Aedes albopictus) และยุงลายบ้าน (Aedes aegypti) เป็นพาหะนำโรค พบระบาดได้รวดเร็วและกว้างขวางซึ่งมักพบในฤดูฝน พบได้ในทุกกลุ่มอายุ พบมากในกลุ่มวัยทำงาน
ระยะฟักตัวของโรค 1-12 วัน (ส่วนใหญ่ 2-3 วัน)
อาการ
ผู้ป่วยจะมีไข้สูงเฉียบพลัน (39-40 องศาเซลเซียส) ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว อ่อนเพลีย มักมีอาการปวดข้อรุนแรง ตาแดง และมีผื่นแดงเล็ก ๆ คล้ายหัด (พบมากตามลำตัวและแขนขา) ซึ่งมักหายได้เองภายใน 7-10 วัน
บางรายอาจมีอาการเบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ร่วมด้วย
ไข้มักจะขึ้นสูงตลอดเวลาและเป็นอยู่ประมาณ 2-4 วันก็ทุเลาไปเอง
ส่วนอาการปวดข้อมักจะเป็นตามข้อเล็ก ๆ หลายข้อ (มักเกิน 10 ข้อ) พร้อมกัน หรือมีลักษณะย้ายจากข้อหนึ่งไปยังอีกข้อหนึ่ง บางครั้งพบว่ามีข้ออักเสบบวมแดง ข้อที่พบว่าปวดได้บ่อย ได้แก่ มือ ข้อมือ เท้า และข้อเท้า การกดด้านหน้าของข้อมือทำให้อาการปวดข้อมือรุนแรงมากขึ้น (ซึ่งเป็นลักษณะจำเพาะของโรคนี้) อาการปวดข้อมักเป็นอยู่นาน 1-2 สัปดาห์ ในรายที่เป็นรุนแรงอาจนานเป็นแรมเดือน ทำให้ผู้ป่วยขยับข้อไม่ได้หรือเคลื่อนไหวได้ลำบาก
บางรายเมื่ออาการปวดข้อทุเลาไปแล้วอาจกำเริบได้อีกภายใน 2-3 สัปดาห์ บางรายอาจมีอาการปวดข้อนานเป็นแรมปี
ภาวะแทรกซ้อน
ที่พบบ่อยคือ อาการปวดข้อเรื้อรัง ซึ่งอาจทำให้เคลื่อนไหวลำบาก
ส่วนภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ พบได้น้อยมาก เช่น กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ประสาทหูอักเสบ จอตาอักเสบ ม่านตาอักเสบ ไตอักเสบ ตับอักเสบ สมองอักเสบ ไขสันหลังอักเสบ กลุ่มอาการกิลเลนบาร์เร เป็นต้น ภาวะแทรกซ้อนเหล่านี้อาจพบในทารกแรกเกิดที่ติดเชื้อจากมารดาขณะอยู่ในครรภ์ ผู้ที่มีอายุมากกว่า 65 ปี และผู้ที่มีโรคเรื้อรัง (เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด)
การวินิจฉัย
แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการ และสิ่งตรวจพบดังนี้
ไข้ 39-40 องศาเซลเซียส
ตาแดง ผื่นแดงตามตัว
ข้ออักเสบ (ปวดบวมแดงร้อน)
หากไม่แน่ใจ แพทย์จะยืนยันการวินิจฉัยด้วยการตรวจเลือดหาเชื้อ หรือสารภูมิต้านทานต่อเชื้อชนิดนี้
การรักษาโดยแพทย์
ให้การรักษาตามอาการ เช่น พาราเซตามอลบรรเทาไข้ ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์บรรเทาปวดข้อ เป็นต้น ผู้ป่วยมักจะหายได้เอง โดยไม่มีภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง และไม่พบภาวะเลือดออกรุนแรงหรือภาวะช็อกแบบไข้เลือดออก
การดูแลตนเอง
หากสงสัย เช่น มีไข้ ผื่นขึ้น ปวดข้อ หรือมีไข้ในช่วงที่มีคนในละแวกใกล้เคียงเป็นไข้ปวดข้อยุงลาย ควรปรึกษาแพทย์
เมื่อตรวจพบว่าเป็นไข้ปวดข้อยุงลาย (ไข้ชิคุนกุนยา) ควรดูแลตนเอง ดังนี้
รักษา กินยา และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
พักผ่อนมาก ๆ ห้ามตรากตรำงานหนักหรือออกกำลังกายมากเกินไป
ดื่มน้ำมาก ๆ เพื่อช่วยลดไข้ และทดแทนน้ำที่เสียไปเนื่องจากไข้สูง
ควรกินอาหารอ่อน น้ำข้าว น้ำหวาน น้ำส้ม น้ำผลไม้ หรือเครื่องดื่มร้อน ๆ
ใช้ผ้าชุบน้ำ (ควรใช้น้ำอุ่น หรือน้ำก๊อกธรรมดา อย่าใช้น้ำเย็นจัดหรือน้ำแข็ง) เช็ดตัวเวลามีไข้สูง
ติดตามรักษากับแพทย์ตามนัด
ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้
ดูแลรักษาแล้วอาการไม่ทุเลาใน 2-3 วัน
มีอาการไข้สูง หนาวสั่นมาก หรือมีไข้นานเกิน 1 สัปดาห์
มีอาการซึมมาก เบื่ออาหาร อาเจียน หรือมีจุดแดงจ้ำเขียวตามผิวหนัง
มีภาวะแทรกซ้อน เช่น หูตึง ตามัว เจ็บหน้าอก หอบเหนื่อย ดีซ่าน (ตาเหลือง ตัวเหลือง) แขนขาอ่อนแรง ชัก เป็นต้น
ในรายที่แพทย์ให้ยากลับไปกินต่อที่บ้าน กินยาแล้วสงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม ปวดท้อง ท้องเดิน คลื่นไส้ อาเจียน จุดแดงจ้ำเขียว หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ
การป้องกัน
ทำลายแหล่งเพาะยุงลายบ้านและยุงลายสวน และหาวิธีป้องกันไม่ให้ยุงลายกัด (ดูหัวข้อ "การป้องกัน ในโรคไข้เลือดออก" เพิ่มเติม)
ข้อแนะนำ
1. การวินิจฉัยไข้ปวดข้อยุงลาย อาศัยลักษณะอาการแสดงของโรคเป็นหลัก ได้แก่ อาการไข้สูง ปวดข้อ มีผื่นแดง หากจำเป็นต้องยืนยันให้แน่ชัด อาจจำเป็นต้องตรวจเลือดหาสารภูมิต้านทานต่อไวรัสชิคุนกุนยา หรือตรวจหาสารพันธุกรรมของไวรัสชนิดนี้
2. โรคนี้ส่วนใหญ่หายได้เองและไม่มีภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง แต่สำหรับผู้ที่มีอายุมากกว่า 65 ปี และผู้ที่มีโรคเรื้อรัง (เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด) หากเป็นโรคนี้ควรเฝ้าระวังอาการแทรกซ้อนที่อาจเกิดตามมาได้
3. โรคนี้อาจพบระบาดในชุมชน (จากการมียุงลายบ้านเป็นพาหะของโรคนี้ รวมทั้งไข้เลือดออก และไข้ซิกา) และในแหล่งที่มีการทำสวน (เช่น สวนยาง ซึ่งมียุงลายสวนเป็นพาหะของโรคนี้)
4. ผู้ที่เคยเป็นโรคนี้จะมีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสชิคุนกุนยา มักจะไม่เป็นซ้ำอีก แต่อาจเป็นไข้เลือดออก หรือไข้ซิกาได้ เนื่องจากเกิดจากเชื้อไวรัสคนละชนิดกัน และมียุงลายบ้านเป็นพาหะเช่นเดียวกัน
5. ไข้ปวดข้อยุงลาย มักมีอาการไข้สูง มีผื่นแดงตามตัว และปวดข้อเป็นสำคัญ แต่ในบางรายอาจมีจุดแดง (จุดเลือดออกเล็ก ๆ) ตามผิวหนัง การทดสอบทูร์นิเคต์อาจให้ผลบวก และการตรวจนับจำนวนเกล็ดเลือดอาจพบว่าต่ำ (แต่จะต่ำกว่าปกติเล็กน้อย ไม่มากเท่าไข้เลือดออก) ซึ่งมีลักษณะคล้ายไข้เลือดออกระยะแรก แต่ต่างกันตรงที่ไข้ปวดข้อยุงลายมักจะมีอาการข้ออักเสบ (ปวดข้อ ข้อบวมแดงร้อน) ร่วมด้วย มักมีไข้สูงอยู่เพียงประมาณ 2-4 วันก็ทุเลาไปเอง หลังจากไข้ลงแล้ว อาจมีอาการข้ออักเสบเรื้อรัง ในขณะที่ไข้เลือดออกมักมีไข้มากกว่า 4-7 วัน อาจมีอาการปวดท้อง อาเจียน ตับโตร่วมด้วย และอาจมีภาวะเลือดออกหรือภาวะช็อกตามมาได้
อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยที่มีไข้สูงในระยะแรก ๆ ยังไม่ได้วินิจฉัยให้แน่ชัดด้วยการตรวจเลือดหาเชื้อต้นเหตุว่าเป็นไข้เลือดออกหรือไข้ปวดข้อยุงลาย จึงควรติดตามสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด หากมีอาการเปลี่ยนแปลงที่รุนแรง (เช่น เกิดภาวะช็อก หรือมีเลือดออก) หรือสงสัยเป็นไข้เลือดออก ก็ควรรีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลโดยเร็ว