ผู้เขียน หัวข้อ: หมอออนไลน์: เบาหวาน (Diabetes mellitus/DM)  (อ่าน 274 ครั้ง)

siritidaphon

  • Sr. Member
  • ****
  • กระทู้: 373
    • ดูรายละเอียด
หมอออนไลน์: เบาหวาน (Diabetes mellitus/DM)
« เมื่อ: 16 สิงหาคม 2024, 20:42:56 pm »
หมอออนไลน์: เบาหวาน (Diabetes mellitus/DM)

เบาหวาน เป็นโรคที่มีความผิดปกติเกี่ยวกับการนำน้ำตาลไปใช้ประโยชน์อันเกี่ยวเนื่องกับความบกพร่องของฮอร์โมนอินซูลิน (insulin) ทำให้มีระดับน้ำตาลในเลือดสูง ซึ่งก่อให้เกิดอาการและภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ตามมา

ในบ้านเราพบโรคนี้ประมาณร้อยละ 9 ของประชากรไทยที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป และพบเป็นมากขึ้นตามอายุที่มากขึ้น ผู้ที่มีอายุ 15-29 ปีพบได้ประมาณร้อยละ 2 ในขณะที่อายุ 60-69  ปีขึ้นไปพบได้ถึงร้อยละประมาณ 20

ผู้ที่เป็นเบาหวานมักมีประวัติว่ามีพ่อแม่ หรือญาติพี่น้องเป็นโรคนี้ และมักมีภาวะน้ำหนักเกินร่วมด้วย

สาเหตุ

เกิดจากความพบพร่องของฮอร์โมนอินซูลิน

อินซูลินเป็นฮอร์โมนที่ผลิตโดยตับอ่อน (ส่วนที่เรียกว่า บีตาเซลล์) ทำหน้าที่ช่วยนำน้ำตาลหรือกลูโคสในเลือด (ซึ่งได้จากอาหารที่กิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกแป้ง คาร์โบไฮเดรต ของหวาน) เข้าสู่เซลล์ทั่วร่างกาย เพื่อเผาผลาญให้เป็นพลังงานสำหรับการทำหน้าที่ของอวัยวะต่าง ๆ

ผู้ที่เป็นเบาหวานจะพบว่าตับอ่อนผลิตอินซูลินได้น้อยหรือไม่ได้เลย หรือผลิตได้ปกติ แต่ประสิทธิภาพของอินซูลินลดลง (เรียกว่า ภาวะดื้อต่ออินซูลิน หรือ insulin resistance เช่นที่พบในคนอ้วน) เมื่อขาดอินซูลินหรืออินซูลินทำหน้าที่ไม่ได้ น้ำตาลในเลือดจึงเข้าสู่เซลล์ต่าง ๆ ได้น้อยกว่าปกติ จึงเกิดการคั่งของน้ำตาลในเลือด และน้ำตาลก็ถูกขับออกมาทางปัสสาวะ จึงเรียกว่า เบาหวาน

ผู้ป่วยที่เป็นมาก คือมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงมาก มักจะมีอาการปัสสาวะบ่อยและมาก เนื่องจากน้ำตาลที่ออกมาทางไตจะดึงเอาน้ำออกมาด้วย จึงทำให้มีปัสสาวะมากกว่าปกติ เมื่อถ่ายปัสสาวะมาก ก็ทำให้รู้สึกกระหายน้ำต้องคอยดื่มน้ำบ่อย ๆ และเนื่องจากผู้ป่วยไม่สามารถนำน้ำตาลมาเผาผลาญเป็นพลังงานจึงหันมาเผาผลาญกล้ามเนื้อและไขมันแทน ทำให้ร่างกายผ่ายผอม ไม่มีไขมัน กล้ามเนื้อฝ่อลีบ อ่อนเปลี้ยเพลียแรง

นอกจากนี้ การมีน้ำตาลในเลือดสูงนาน ๆ ทำให้อวัยวะต่าง ๆ เกิดการเปลี่ยนแปลงผิดปกติ และนำมาซึ่งภาวะแทรกซ้อนมากมาย

เบาหวานสามารถแบ่งออกเป็นหลายชนิด ซึ่งมีสาเหตุ ความรุนแรง และการรักษาต่างกัน ที่สำคัญได้แก่

1. เบาหวานชนิดที่ 1 (type 1 diabetes mellitus) เป็นชนิดที่พบได้น้อย แต่มีความรุนแรงและอันตรายสูง มักพบในเด็กและผู้ที่อายุต่ำกว่า 20 ปี แต่ก็อาจพบในผู้สูงอายุได้บ้าง ตับอ่อนของผู้ป่วยชนิดนี้จะผลิตอินซูลินไม่ได้เลยหรือได้น้อยมาก เชื่อว่าร่างกายมีการสร้างสารภูมิต้านทานขึ้นต่อต้านทำลายตับอ่อนของตนเองจนไม่สามารถสร้างอินซูลินได้ ดังที่เรียกว่า โรคภูมิต้านตนเอง (autoimmune) ทั้งนี้เป็นผลมาจากความผิดปกติทางกรรมพันธุ์ ร่วมกับการติดเชื้อ หรือการได้รับสารพิษจากภายนอก

ผู้ป่วยจะมีรูปร่างผอม มีอาการของโรคชัดเจน และจำเป็นต้องพึ่งพาการฉีดอินซูลินเข้าทดแทนทุกวันไปตลอดชีวิต จึงจะสามารถเผาผลาญน้ำตาลได้เป็นปกติ มิเช่นนั้นร่างกายจะหันไปเผาผลาญไขมันแทนจนทำให้ผ่ายผอมอย่างรวดเร็ว และถ้าเป็นรุนแรงจะมีการคั่งของสารคีโตน (ketones) ซึ่งเป็นสารที่เกิดจากการเผาผลาญไขมัน สารนี้จะเป็นพิษต่อระบบประสาททำให้ผู้ป่วยหมดสติถึงตายได้รวดเร็ว เรียกว่า ภาวะคั่งสารคีโตน (ketosis)

ผู้ป่วยกลุ่มนี้แต่เดิมเรียกว่า เบาหวานชนิดพึ่งอินซูลิน (insulin-dependent diabetes mellitus/IDDM)

2. เบาหวานชนิดที่ 2 (type 2 diabetes mellitus) เป็นเบาหวานชนิดที่พบเห็นกันเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งมักมีความรุนแรงน้อย มักพบในผู้ที่มีอายุมากกว่า 30 ปีขึ้นไป และมีแนวโน้มพบในเด็ก/วัยรุ่นมากขึ้น ตับอ่อนของผู้ป่วยชนิดนี้ยังสามารถผลิตอินซูลินได้ แต่ไม่เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย หรือผลิตได้พอ แต่เกิดภาวะดื้อต่ออินซูลิน จึงทำให้มีน้ำตาลคั่งในเลือดกลายเป็นเบาหวานได้ ผู้ป่วยชนิดนี้มักมีภาวะน้ำหนักเกินหรืออ้วน สาเหตุอาจเกิดจากกรรมพันธุ์หรืออ้วนเกินไป ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักไม่มีอาการชัดเจน และมักไม่เกิดภาวะคีโตซีสเช่นที่เกิดกับชนิดที่ 1 การควบคุมอาหารหรือการใช้ยาเบาหวานชนิดกิน มักได้ผลในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ปกติได้ หรือบางครั้งถ้าระดับน้ำตาลสูงมาก ๆ ก็อาจต้องใช้อินซูลินฉีดเป็นครั้งคราว ยกเว้นในรายที่ดื้อต่อยากินอาจต้องใช้อินซูลินตลอดไป

ผู้ป่วยกลุ่มนี้แต่เดิมเรียกว่า เบาหวานชนิดไม่พึ่งอินซูลิน (non-insulin-dependent diabetes mellitus /NIDDM) และเนื่องจากเป็นกลุ่มที่พบได้บ่อย เมื่อพูดถึงโรคเบาหวาน จึงมักหมายถึงเบาหวานชนิดนี้

3. เบาหวานที่มีสาเหตุจำเพาะอื่น ๆ อาทิ

    เกิดจากยา เช่น สเตียรอยด์ ยาขับปัสสาวะไทอาไซด์ กรดนิโคตินิก ฮอร์โมนไทรอยด์
    พบร่วมกับโรคหรือภาวะผิดปกติทางกรรมพันธุ์ เช่น

          - พบร่วมกับโรคติดเชื้อ เช่น คางทูม หัดเยอรมันโดยกำเนิด โรคติดเชื้อไวรัสไซโตเมกะโล (cytomegalovirus)
          - พบร่วมกับโรคอื่น ๆ เช่น มะเร็งตับอ่อน ตับอ่อนอักเสบเรื้อรัง ซึ่งมักพบในผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์จัด โรคคุชชิง กลุ่มอาการถุงน้ำรังไข่ชนิดหลายถุง อะโครเมกาลี (acromegaly) ฟีโอโครโมไซโตมา (pheochromocytoma ซึ่งเป็นเนื้องอกของต่อมหมวกไตชนิดหนึ่ง)

ถ้าเกิดจากสาเหตุที่แก้ไขได้ เช่น ผ่าตัดเนื้องอกออกไป หรือหยุดยาที่เป็นต้นเหตุ โรคเบาหวานก็สามารถหายได้

4. เบาหวานขณะตั้งครรภ์ (gestational diabetes mellitus/GDM) ขณะตั้งครรภ์รกสร้างฮอร์โมนหลายชนิดซึ่งเข้าไปในร่างกายหญิงตั้งครรภ์ ทำให้เกิดภาวะดื้อต่ออินซูลิน เป็นเหตุให้มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงจนกลายเป็นเบาหวานได้ หลังคลอดระดับน้ำตาลในเลือดมารดามักจะกลับสู่ปกติ

หญิงกลุ่มนี้อาจคลอดทารกตัวโต (น้ำหนักแรกเกิดมากกว่า 4 กก.) มักเป็นเบาหวานซ้ำอีกเมื่อตั้งครรภ์ใหม่ และมีความเสี่ยงต่อการเป็นเบาหวานเรื้อรังตามมาในระยะยาว

อาการ

ในรายที่เป็นไม่มาก ระดับน้ำตาลในเลือดไม่เกิน 200 มก./ดล. ซึ่งพบในกลุ่มเบาหวานชนิดที่ 2 เป็นส่วนใหญ่ ผู้ป่วยจะรู้สึกสบายดีและไม่มีอาการผิดปกติใด ๆ มักตรวจพบโดยบังเอิญจากการตรวจปัสสาวะ หรือตรวจเลือดขณะไปพบแพทย์ด้วยเรื่องอื่น หรือจากการตรวจเช็กสุขภาพ

ในรายที่เป็นมาก ระดับน้ำตาลในเลือดมากกว่า 200 มก./ดล. ซึ่งพบในกลุ่มเบาหวานชนิดที่ 1 และบางส่วนของเบาหวานชนิดที่ 2 ซึ่งเป็นถึงขั้นรุนแรง ผู้ป่วยมีอาการปัสสาวะบ่อยและออกครั้งละมาก ๆ กระหายน้ำบ่อย หิวบ่อยหรือกินข้าวจุ อ่อนเปลี้ยเพลียแรง บางรายอาจสังเกตว่าปัสสาวะมีมดขึ้น

ในรายที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 1 อาการต่าง ๆ มักเกิดขึ้นรวดเร็วร่วมกับน้ำหนักตัวลดลงฮวบฮาบ (กินเวลาเป็นสัปดาห์หรือเป็นเดือน) ผู้ป่วยเด็กบางรายอาจมีอาการปัสสาวะรดที่นอนตอนกลางคืน ผู้ป่วยบางรายอาจมาโรงพยาบาลด้วยอาการหมดสติด้วยภาวะคีโตแอซิโดชิส (ketoacidosis) ผู้ป่วยกลุ่มนี้มักมีอายุน้อยและรูปร่างผอม

ในรายที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 2 ส่วนใหญ่จะไม่มีอาการแสดงชัดเจน ส่วนน้อยจะมีอาการผิดปกติดังกล่าวข้างต้น น้ำหนักตัวอาจลดลงบ้างเล็กน้อย บางรายอาจมีน้ำหนักขึ้น ผู้ป่วยกลุ่มนี้มักมีภาวะน้ำหนักเกินหรือโรคอ้วนอยู่แต่เดิม ในรายที่เป็นเรื้อรังมานาน (ทั้งที่มีอาการหรือไม่มีอาการปัสสาวะบ่อยมาก่อน) อาจมีอาการคันตามตัว เป็นฝีหรือโรคติดเชื้อราที่ผิวหนังบ่อย หรือเป็นแผลเรื้อรัง หรืออาจมาพบแพทย์ด้วยภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ เช่น ชาหรือปวดแสบปวดร้อนตามปลายมือปลายเท้า ตามัวลงทุกที หรือต้องเปลี่ยนแว่นสายตาบ่อย เจ็บจุกหน้าอกจากโรคหัวใจขาดเลือด อัมพฤกษ์ อัมพาต ภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ เป็นต้น

ภาวะแทรกซ้อน

มักเกิดกับผู้ป่วยเบาหวานที่ปล่อยปละละเลย ขาดการรักษา หรือดูแลรักษาไม่ถูกต้อง

ภาวะแทรกซ้อนมีทั้งประเภทเฉียบพลัน (เช่น หมดสติ ติดเชื้อรุนแรง) และประเภทเรื้อรัง

ภาวะแทรกซ้อนประเภทเรื้อรัง มักเกิดในกลุ่มผู้ป่วยที่ควบคุมระดับน้ำตาลไม่ได้อยู่เป็นเวลานาน (บางคนอาจใช้เวลา 5-10 ปีขึ้นไป) ทำให้หลอดเลือดแดงทั้งขนาดเล็กและใหญ่แข็งและตีบตัน ส่งผลให้อวัยวะหลายส่วน (เช่น ตา ไต ระบบประสาท เท้า สมอง หัวใจ) ขาดเลือดไปเลี้ยง เป็นเหตุให้อวัยวะเหล่านี้เสื่อมสมรรถภาพ พิการ หรือเสียหน้าที่

ผู้ป่วยเบาหวานที่ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ไม่ดี มีโอกาสติดเชื้อได้ง่าย เนื่องจากภูมิคุ้มกันโรคต่ำ (เม็ดเลือดขาวทำหน้าที่กำจัดเชื้อโรคได้น้อยลง)

นอกจากนี้ ผู้ป่วยเบาหวานยังก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในลักษณะอื่น ๆ เป็นเหตุให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้อีกหลากหลาย

ในที่นี้จะขอกล่าวถึงภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญหรือพบบ่อย ได้แก่

1. ภาวะหมดสติจากเบาหวาน เป็นภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นเฉียบพลันและรุนแรง หากไม่ได้รับการช่วยเหลืออย่างทันท่วงทีอาจเสียชีวิตได้

สาเหตุที่พบได้บ่อย คือ ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ จะพบในผู้ป่วยเบาหวานที่กินยาหรือฉีดยาเบาหวานสม่ำเสมอ หรือควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ค่อนข้างดีอยู่แต่เดิม ภาวะแทรกซ้อนชนิดนี้มักเกิดจากผู้ป่วยใช้ยาเบาหวานเกินขนาด อดอาหาร กินอาหารน้อยเกินไป หรือกินอาหารผิดเวลานานเกินไป ดื่มแอลกอฮอล์มาก หรือมีการออกแรงกายหนักและนานเกินไป

อาการ ในระยะแรกผู้ป่วยจะรู้สึกหิว ใจสั่น มือสั่น อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ มึนงง คลื่นไส้ หงุดหงิด กระสับกระส่าย เหงื่อออก ตัวเย็น ตาพร่ามัว หรือเห็นภาพซ้อน ถ้าผู้ป่วยรีบกินน้ำตาลหรือน้ำหวาน อาการต่าง ๆ จะทุเลาได้ภายในเวลาสั้น ๆ แต่หากไม่ทำการแก้ไขดังกล่าว ก็จะมีอาการขากรรไกรแข็ง ชักเกร็ง ไม่ค่อยรู้สึกตัวหรือหมดสติ ตรวจเลือดจะพบว่าน้ำตาลในเลือดต่ำ ตรวจปัสสาวะจะไม่พบน้ำตาลในปัสสาวะ (ดูรายละเอียดใน “ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ”)

นอกจากนี้ ภาวะหมดสติจากเบาหวาน ยังอาจเกิดจากสาเหตุร้ายแรงอื่น ๆ ได้แก่

    ภาวะคีโตแอซิโดซิส (ketoacidosis) พบเฉพาะในผู้ป่วยที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 1 ที่ขาดการฉีดอินซูลินนาน ๆ หรือพบในภาวะติดเชื้อหรือได้รับบาดเจ็บ ซึ่งร่างกายต้องการอินซูลินมากขึ้นร่างกายจะมีการเผาผลาญไขมันแทนน้ำตาลทำให้เกิดการคั่งของสารคีโตนในเลือด จนเกิดภาวะเลือดเป็นกรด (เรียกว่า diabetic ketoacidosis/DKA) ผู้ป่วยจะมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน กระหายน้ำอย่างมาก หายใจหอบลึก และลมหายใจมีกลิ่นหอม (กลิ่นของสารคีโตน) มีไข้ กระวนกระวาย มีภาวะขาดน้ำรุนแรง (ตาโบ๋ หนังเหี่ยว ความดันต่ำ ชีพจรเบาเร็ว) อาจมีอาการปวดท้อง ท้องเดิน ผู้ป่วยจะซึมลงเรื่อย ๆ จนกระทั่งหมดสติ จะตรวจพบน้ำตาลในเลือดสูง พบน้ำตาลในปัสสาวะและพบสารคีโตนในเลือดและในปัสสาวะ
    ภาวะน้ำตาลในเลือดสูงรุนแรง (non-ketotic hyperglycemic hyperosmolar coma/NKHHC) มักพบในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ที่เป็นโรคโดยไม่รู้ตัว หรือที่ขาดการรักษา หรือมีภาวะติดเชื้อรุนแรง (เช่น ปอดอักเสบ กรวยไตอักเสบ โลหิตเป็นพิษ) หรือมีการใช้ยาบางชนิด (เช่น สเตียรอยด์ ยาขับปัสสาวะ) ร่วมด้วย ทำให้มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงมาก ๆ (สูงเกิน 600 มก./ดล. ขึ้นไป) ผู้ป่วยจะเกิดภาวะขาดน้ำรุนแรง ซึม เพ้อ ชัก หมดสติ โดยก่อนหน้าจะหมดสติเป็นวันหรือสัปดาห์ ผู้ป่วยจะมีอาการอ่อนเพลีย ปัสสาวะบ่อย กระหายน้ำบ่อย

2. การติดเชื้อ ผู้ป่วยเบาหวานจะเป็นโรคติดเชื้อง่ายเนื่องจากภูมิคุ้มกันต่ำ อาจเป็นการติดเชื้อซ้ำซาก เช่น กระเพาะปัสสาวะอักเสบ กลาก โรคเชื้อราเคนดิดา ช่องคลอดอักเสบ เป็นฝีหรือพุพอง เป็นต้น อาจจะเป็นการติดเชื้อรุนแรง เช่น ปอดอักเสบ กรวยไตอักเสบเฉียบพลัน หูชั้นนอกอักเสบรุนแรง เท้าเป็นแผลติดเชื้อซึ่งอาจลุกลามจนเท้าเน่า เป็นต้น หรืออาจจะเป็นโรคติดเชื้อเรื้อรัง เช่น วัณโรคปอด

3. ภาวะแทรกซ้อนของตา ที่สำคัญคือ จอประสาทตาเสื่อม (retinopathy) เกิดจากการตีบตันของหลอดเลือดแดงขนาดเล็กที่มาเลี้ยงจอประสาทตา ทำให้จอประสาทตาและหลอดเลือดในบริเวณนี้เกิดความผิดปกติแบบค่อยเป็นค่อยไป ในระยะแรกผู้ป่วยจะไม่รู้สึกผิดปกติ จนกระทั่งเป็นมากแล้วก็จะเกิดอาการตามัว ตาบอดได้ ดังนั้นจึงควรไปพบจักษุแพทย์เพื่อตรวจเช็กตาปีละครั้ง (ผู้ป่วยเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ควรตรวจตาตั้งแต่อายุครรภ์ 3 เดือนแรก และตรวจเป็นระยะจนกระทั่งหลังคลอด 1 ปี เนื่องจากการตั้งครรภ์อาจทำให้จอประสาทตาเสื่อมมากขึ้น) ถ้าพบเป็นตั้งแต่ระยะแรกเริ่มจะได้ให้การรักษา (ประกอบด้วยการยิงเลเซอร์ไปที่หลอดเลือดที่ผิดปกติ) ป้องกันตาบอด

นอกจากนี้ ยังอาจพบว่าผู้ป่วยเบาหวานเป็นต้อกระจกก่อนวัย หรือต้อหินเรื้อรัง เลือดออกในน้ำวุ้นลูกตา (vitreous hemorrhage) จอตาลอก หลอดเลือดแดงหลักของจอตาอุดตัน ซึ่งถ้าไม่ได้รับการรักษา อาจทำให้ตาบอดได้

4. ภาวะแทรกซ้อนของไต ที่สำคัญ คือ ไตเสื่อม หรือไตวายเรื้อรัง (nephropathy หรือ chronic renal failure) เกิดจากการตีบตันของหลอดเลือดแดงขนาดเล็กที่มาเลี้ยงไต ทำให้ไตเสื่อมลงแบบค่อยเป็นค่อยไปอย่างช้า ๆ ในระยะแรกจะพบว่ามีสารไข่ขาว (แอลบูมิน) หลุดออกมาในปัสสาวะจำนวนน้อย (30-299 มก./วัน ซึ่งเรียกว่า microalbuminuria) ระยะนี้ยังมีทางบำบัดเพื่อป้องกันภาวะไตเสื่อมได้ ดังนั้นจึงควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจสารไข่ขาวในปัสสาวะอย่างน้อยปีละครั้ง หากปล่อยปละละเลยจนไตเสื่อมถึงที่สุด ก็จะกลายเป็นไตวายเรื้อรัง ซึ่งในที่สุดอาจต้องทำการฟอกล้างของเสียหรือล้างไต (dialysis) หรือผ่าตัดปลูกถ่ายไต

5. ภาวะแทรกซ้อนของระบบประสาท ได้แก่ ระบบประสาทเสื่อม (neuropathy) เนื่องจากหลอดเลือดแดงขนาดเล็กที่มาเลี้ยงระบบประสาทเกิดการแข็งและตีบ ถ้าเกิดกับประสาทส่วนปลายที่เลี้ยงแขนขา ในระยะแรกอาจมีอาการปลายมือปลายเท้าแสบร้อน หรือเจ็บเหมือนถูกเข็มทิ่มแทง มักเป็นมากตอนกลางคืน จนบางรายนอนไม่หลับ อาการจะทุเลาหรือหายได้เมื่อคุมเบาหวานได้ดี

ถ้าปล่อยให้น้ำตาลในเลือดสูงต่อไปนาน ๆ ก็จะเกิดอาการชาปลายมือปลายเท้า ซึ่งจะค่อย ๆ ลุกลามสูงขึ้นมาเรื่อย ๆ (คล้ายใส่ถุงมือถุงเท้า) อาการชาดังกล่าวเมื่อเกิดขึ้นแล้วจะไม่หายแม้ว่าต่อมาจะคุมเบาหวานได้ดีขึ้นก็ตาม จนในที่สุดจะไม่มีความรู้สึก จึงเกิดบาดแผลที่เท้าง่ายเมื่อเหยียบถูกของมีคมหรือของร้อน ๆ หรือถูกของแหลมทิ่มตำ เมื่อเกิดบาดแผลก็มีโอกาสติดเชื้ออักเสบเนื่องจากภูมิคุ้มกันต่ำ และเนื่องจากมีภาวะขาดเลือดจากภาวะหลอดเลือดแดงแข็งและตีบ ทำให้แผลหายยาก บางครั้งอาจลุกลามรุนแรง หรือเป็นเนื้อเน่าตาย (gangrene) จำเป็นต้องตัดนิ้วเท้าหรือข้อเท้า เกิดความพิการได้ ผู้ป่วยเบาหวานควรหมั่นดูแลเท้าอย่าให้เกิดบาดแผล และหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ เพราะจะเสริมให้หลอดเลือดแข็งและตีบมากขึ้น

บางรายอาจมีประสาทเลี้ยงกล้ามเนื้อตาเสื่อม ทำให้กล้ามเนื้อตาเป็นอัมพาต มีอาการตาเหล่ หนังตาตก หลับตาไม่สนิท รูม่านตาขยาย มองเห็นภาพซ้อน อาการเหล่านี้มักหายได้เองภายใน 6-12 สัปดาห์

นอกจากนี้ ยังอาจมีความเสื่อมของระบบประสาทอัตโนมัติ (autonomic neuropathy) ซึ่งควบคุมอวัยวะต่าง ๆ ภายในร่างกาย ทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะจากภาวะความดันตกในท่ายืน อาการอาหารไม่ย่อยหรือแสบลิ้นปี่จากโรคกรดไหลย้อน ปวดท้อง ท้องเดิน หรือท้องผูกเรื้อรังจากโรคลำไส้แปรปรวน กระเพาะปัสสาวะหย่อนสมรรถภาพ (ทำให้ถ่ายปัสสาวะออกไม่หมด เกิดกระเพาะปัสสาวะอักเสบเรื้อรัง) ต่อมเหงื่อไม่ทำงาน (ทำให้ผิวแห้ง) องคชาตไม่แข็งตัว (erectile dysfunction ซึ่งนอกจากเกิดจากประสาทที่ไปเลี้ยงองคชาตเสื่อมแล้ว ยังเป็นผลมาจากหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงองคชาตเกิดการแข็งและตีบอีกด้วย)

6. ภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง (atherosclerosis) ทำให้หลอดเลือดตีบตัน ขาดเลือดไปเลี้ยงอวัยวะสำคัญ ๆ ได้แก่ หัวใจ สมอง ทำให้เกิดโรคหัวใจขาดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ามีปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูงหรือผิดปกติ อ้วน สูบบุหรี่ เป็นต้น ก็ยิ่งมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนเหล่านี้ได้มากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ หลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงขาและเท้าก็เกิดการตีบตันได้ เรียกว่า "โรคหลอดเลือดแดงขาตีบ" มีภาวะเลือดไปเลี้ยงขาและเท้าไม่พอ ทำให้เกิดอาการปวดขาเวลาเดิน และอาจพบเป็นตะคริวตอนกลางคืนได้บ่อย

7. ภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ผู้ป่วยเบาหวานยังอาจเป็นปัจจัยของการเกิดโรคอื่น ๆ อีก เช่น สมองเสื่อมหรือโรคอัลไซเมอร์ ภาวะซึมเศร้า หูตึง ภาวะไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูง นิ่วน้ำดี เส้นประสาทมือถูกพังผืดรัดแน่น ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจพิการ (cardiomyopathy ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะหัวใจวาย) ได้ ภาวะไขมันสะสมในตับ (fatty liver ซึ่งอาจทำให้กลายเป็นตับแข็งหรือมะเร็งตับ) รวมทั้งมีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งตับอ่อนมากขึ้น

การวินิจฉัย

สำหรับคนทั่วไป (ที่ไม่ได้ตั้งครรภ์) หากมีอาการของเบาหวาน (เช่น ปัสสาวะบ่อย กระหายน้ำบ่อย) หรือไม่มีอาการแต่ตรวจพบน้ำตาลในปัสสาวะหรือน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ หรือเป็นผู้ที่เสี่ยงต่อโรคนี้ (เช่น อ้วน มีญาติสายตรงเป็นเบาหวาน) ควรส่งตรวจเพิ่มเติมเพื่อยืนยันการวินิจฉัย ดังนี้

1. กรณีผู้ป่วยไม่มีอาการแสดง ควรตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดแบบเจาะที่แขน (venous blood) หลังอดอาหารอย่างน้อย 8 ชั่วโมง (fasting plasma glucose/FPG) ซึ่งสามารถแปลผล ดังนี้

    ถ้าระดับน้ำตาลในเลือดหลังอดอาหาร (FPG) มีค่าต่ำกว่า 100 มก./ดล. ถือว่าปกติ
    ถ้าระดับน้ำตาลในเลือดหลังอดอาหาร (FPG) มีค่าเท่ากับ 100-125 มก./ดล. ถือว่าเป็นระดับน้ำตาลสูงผิดปกติ (impaired fasting glucose/IFG) เรียกว่า กลุ่มเสี่ยงสูงต่อเบาหวาน  (categories of increased risk for diabetes) ควรตรวจยืนยันด้วยการทดสอบความทนต่อน้ำตาล (oral glucose tolerance test/OGTT)*
    ถ้าระดับน้ำตาลในเลือดหลังอดอาหาร (FPG) มีค่าตั้งแต่ 126 มก./ดล. ขึ้นไป หรือระดับน้ำตาลในเลือดหลังดื่มกลูโคส 2 ชั่วโมงมีค่าตั้งแต่ 200 มก./ดล. ขึ้นไป ให้สงสัยว่าอาจเป็นเบาหวาน ควรทำการตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือด (FPG หรือ OGTT แล้วแต่กรณี) ซ้ำอีกครั้งในวันหลัง ถ้ายังมีค่าสูงอยู่ในระดับดังกล่าวอีกก็วินิจฉัยว่าเป็นเบาหวาน

นอกจากนี้ ยังสามารถวินิจฉัยโรคเบาหวานจากการตรวจพบระดับน้ำตาลเฉลี่ยสะสม (HbA1C) มีค่าเท่ากับหรือมากกว่า 6.5%** จากการตรวจ 2 ครั้งในต่างวันกัน

2. กรณีผู้ป่วยมีอาการชัดเจน ควรตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดแบบสุ่มตรวจ คือ ตรวจได้ทันทีไม่ว่าจะเป็นช่วงเวลาใด ถ้าพบว่ามีค่าตั้งแต่ 200 มก./ดล. ขึ้นไป ก็สามารถวินิจฉัยว่าเป็นเบาหวาน

เกณฑ์การวินิจฉัยโรคเบาหวาน (สำหรับหญิงที่ไม่ได้ตั้งครรภ์)***

1. กรณีผู้ป่วยไม่มีอาการของโรคเบาหวาน จะวินิจฉัยว่าเป็นเบาหวานตามข้อใดข้อหนึ่ง ดังนี้

ก. ระดับน้ำตาลในเลือดหลังอดอาหารอย่างน้อย 8 ชั่วโมง (FPG) มีค่าเท่ากับ 126 มก./ดล. หรือมากกว่าจากการตรวจ 2 ครั้งในต่างวันกัน หรือ

ข. ระดับน้ำตาลเฉลี่ยสะสม (HbA1C) มีค่าเท่ากับ 6.5% หรือมากกว่าจากการตรวจ 2 ครั้งในต่างวันกัน หรือ

ค. ระดับน้ำตาลในเลือดหลังดื่มกลูโคส 2 ชั่วโมง (2-hr plasma glucose) จากการทดสอบความทนต่อกลูโคส (OGTT) โดยการดื่มกลูโคส 75 กรัม มีค่าเท่ากับ 200 มก./ดล. หรือมากกว่าจากการตรวจ 2 ครั้งในต่างวันกัน


2. กรณีผู้ป่วยมีอาการของโรคเบาหวานชัดเจน เช่น ปัสสาวะบ่อย กระหายน้ำบ่อย จะวินิจฉัยว่าเป็นเบาหวานเมื่อ

ก. ระดับน้ำตาลในเลือดแบบสุ่มตรวจ (random plasma glucose) มีค่าเท่ากับ 200 มก./ดล. หรือมากกว่า จากการตรวจเพียงครั้งเดียวในช่วงเวลาใดก็ได้

เกณฑ์การตรวจกรองโรคเบาหวานในผู้ที่ไม่มีอาการแสดง

1. ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 35 ปีขึ้นไปทุกคน โดยเฉพาะผู้ที่มีภาวะน้ำหนักเกิน (ดัชนีมวลกาย ≥ 23 กก./ม² ถ้าตรวจพบเป็นปกติ ให้ตรวจซ้ำทุก 3 ปี

2. ผู้ที่มีภาวะน้ำหนักเกิน ร่วมกับปัจจัยเสี่ยงข้อใดข้อหนึ่งต่อไปนี้ควรตรวจกรองเบาหวานเมื่ออายุต่ำกว่า 35 ปี หรือควรกรองให้ถี่ขึ้น

    ขาดการออกกำลังกาย
    มีพ่อแม่พี่น้องเป็นเบาหวาน
    เคยตรวจพบว่ามีภาวะเบาหวานแฝง (ระดับน้ำตาลในเลือดหลังอดอาหาร 8 ชั่วโมงมีค่า 100-125 มก./ดล. หรือระดับน้ำตาลในเลือดหลังดื่มกลูโคส 75 กรัมไปแล้ว 2 ชั่วโมง มีค่า 140 -199 มก./ดล.)
    เคยมีประวัติเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ (GDM) หรือคลอดบุตรน้ำหนักมากกว่า 4 กก.
    มีความดันโลหิตสูง (≥ 140/90 มม.ปรอทขึ้นไป)
    มีไขมันเอชดีแอล (HDL) <35 มก./ดล. และ/หรือไตรกลีเซอไรด์ >250 มก./ดล.
    มีโรคหรือภาวะอื่น ๆ ที่สัมพันธ์กับภาวะดื้อต่ออินซูลิน เช่น กลุ่มอาการถุงน้ำรังไข่ชนิดหลายถุง ผิวหนังเป็นปื้นหนาสีน้ำตาลหรือดำ (acanthosis nigricans****) เป็นต้น
    มีประวัติเป็นโรคหลอดเลือดแข็งและตีบ (vacular disease)

* วิธีทดสอบ ให้ผู้ป่วยอดอาหารอย่างน้อย 8 ชั่วโมง ทำการตรวจระดับน้ำตาลในเลือดก่อน 1 ครั้ง แล้วให้ผู้ป่วยดื่มน้ำตาลกลูโคส 75 กรัม ทำการตรวจระดับน้ำตาลในเลือดหลังดื่มน้ำตาลไปแล้ว 1, 2 และ 3 ชั่วโมง โดยทั่วไปนิยมใช้ค่าน้ำตาลในเลือดหลังดื่มกลูโคสไปแล้ว 2 ชั่วโมง เป็นเกณฑ์ในการวินิจฉัย (ค่าปกติต่ำกว่า 140 มก./ดล. ถ้ามีค่า 140-199 มก./ดล. ถือว่าเป็น “กลุ่มเสี่ยงสูงต่อเบาหวาน” ถ้ามีค่าตั้งแต่ 200 มก./ดล. ขึ้นไปถือว่าเป็นเบาหวาน) วิธีนี้จะใช้เฉพาะในรายที่ตรวจพบว่ามีระดับน้ำตาลในเลือดหลังอดอาหารสูงผิดปกติ (IFG) และหญิงหลังคลอดที่เคยตรวจพบว่าเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ (gestational diabetes mellitus/GDM)
ในการตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือด ถ้าผู้ป่วยมีประวัติกินยาที่อาจทำให้น้ำตาลในเลือดสูงอยู่ก่อน เช่น ยาขับปัสสาวะ ยาเม็ดคุมกำเนิด สเตียรอยด์ กรดนิโคตินิก เฟนิโทอิน เป็นต้น ควรให้ผู้ป่วยงดยาก่อนที่จะทำการตรวจเลือด

** ค่าปกติต่ำกว่า 5% ถ้ามีค่า 5.7-6.4% ถือเป็นกลุ่มเสี่ยงสูงต่อเบาหวาน

***สำหรับหญิงตั้งครรภ์ ใช้เกณฑ์ข้อที่ 1 ก. และ 2 ก. ในการวินิจฉัยได้เช่นเดียวกัน
ส่วนระดับน้ำตาลในเลือดจากการทดสอบความทนต่อกลูโคส โดยการดื่มกลูโคส 100 กรัม (100 g OGTT) ใช้เกณฑ์ดังนี้
1. ระดับน้ำตาลในเลือดหลังอดอาหาร 8 ชั่วโมง ≥ 95 มก./ดล.
2. ระดับน้ำตาลในเลือดหลังดื่มกลูโคส 1 ชั่วโมง ≥ 180 มก./ดล.
3. ระดับน้ำตาลในเลือดหลังดื่มกลูโคส 2 ชั่วโมง ≥ 155 มก./ดล.
4. ระดับน้ำตาลในเลือดหลังดื่มกลูโคส 3 ชั่วโมง ≥ 140 มก./ดล.
การวินิจฉัยภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ (GDM) ต้องมีค่าน้ำตาลสูงตามเกณฑ์ดังกล่าว ตั้งแต่ 2 ข้อขึ้นไป

**** ผิวหนังเป็นปื้นหนาสีน้ำตาลหรือดำคล้ายกำมะหยี่ พบบ่อยที่บริเวณหลังคอ รักแร้ ขาหนีบ ข้อนิ้วมือ ใต้นม ต้นขาด้านใน รอบช่องคลอด เป็นต้น ซึ่งมักเป็นพร้อมกันทั้ง 2 ข้าง (แบบสมมาตร) บางครั้งอาจมีติ่งหนัง (skin tag) อยู่ในหรือรอบ ๆ บริเวณที่เป็นปื้นหนา



 

ลงประกาศฟรี โฆษณาฟรี ลงประกาศขายบ้านฟรี ลงประกาศขายบ้าน ขายที่ดิน ขายคอนโด ขายรถ สินค้าอุตสาหกรรม อาหารเสริม เครื่องสำอางค์ แนะนำสถานที่ท่องเที่ยว โปรโมทสินค้าฟรี เว็บประกาศฟรี ติดอันดับ Google