โรคปอดอักเสบเกิดจากปอดติดเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส หรือเชื้อรา ทำให้เกิดการอักเสบในถุงลมของปอดข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้าง หากถุงเหล่านี้เต็มไปด้วยของเหลวหรือหนอง จะทำให้หายใจลำบาก และการติดเชื้ออาจลุกลามจนเสียชีวิตได้
ปอดติดเชื้อ
โรคปอดอักเสบเกิดจากการที่ปอดติดเชื้อ อาจเกิดได้ทั้งจากเชื้อไวรัสและเชื้อแบคทีเรีย โรคปอดอักเสบเป็นโรคติดต่อชนิดหนึ่ง สามารถแพร่กระจายจากคนสู่คนผ่านการสูดละอองฝอยในอากาศจากการจามหรือไอ
นอกจากนี้ ยังสามารถติดต่อได้จากการสัมผัสกับพื้นผิวหรือวัตถุที่ปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรียหรือไวรัสที่ก่อให้เกิดโรค โรคปอดอักเสบที่เกิดจากเชื้อราในสิ่งแวดล้อม จะไม่แพร่กระจายจากคนสู่คน
โรคปอดอักเสบจำแนกตามสถานที่หรือวิธีการที่ได้รับเชื้อมา ได้แก่:
1. ปอดอักเสบติดเชื้อที่เกิดขึ้นในโรงพยาบาล (Hospital Acquired Pneumonia; HAP) โรคปอดอักเสบจากแบคทีเรียชนิดนี้เกิดขึ้นระหว่างการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล อาจร้ายแรงกว่าชนิดอื่นๆ เนื่องจากแบคทีเรียที่เกี่ยวข้องอาจดื้อต่อยาปฏิชีวนะ
2. โรคปอดอักเสบชุมชน (Community-acquired Pneumonia; CAP) ซึ่งหมายถึงโรคปอดอักเสบที่ได้มาจากนอกสถานพยาบาล
3. โรคปอดอักเสบที่เกี่ยวข้องกับเครื่องช่วยหายใจ (Ventilator- associated. pneumonia; VAP) เกิดขึ้นเมื่อผู้ที่ใช้เครื่องช่วยหายใจเกิดโรคปอดอักเสบ
4. โรคปอดอักเสบจากการสำลัก (Aspiration Pneumonia) เกิดจากการหายใจเอาแบคทีเรียจากอาหาร เครื่องดื่ม หรือน้ำลายเข้าไปในปอดทำให้เกิดโรคปอดอักเสบจากการสำลักอาหาร ผู้ที่มีปัญหาในการกลืนหรือผู้ที่ใช้ยาบางชนิดที่ทำให้ความรู้สึกตัวลดลงมักมีแนวโน้มที่จะมีปัญหานี้
อาการของโรคปอดอักเสบอาจมีตั้งแต่ไม่รุนแรงจนถึงเสียชีวิตได้ อาการเหล่านี้ได้แก่
– ไอมีเสมหะ
– ไข้
– เหงื่อออกหรือหนาวสั่น
– หายใจถี่ขณะทำกิจกรรมตามปกติ หรือแม้แต่ขณะพัก
– อาการเจ็บหน้าอกที่แย่ลงเมื่อหายใจหรือไอ
– รู้สึกเหนื่อยหรือเมื่อยล้า
– สูญเสียความอยากอาหาร
– คลื่นไส้หรืออาเจียน
– ปวดศีรษะ
อาการอื่นๆ อาจแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับอายุและสุขภาพผู้ป่วย ณ ขณะนั้น เช่น
– ในเด็กทารกอาจไม่มีอาการ แต่บางครั้งอาจอาเจียน อ่อนแรง หรือมีปัญหาในการกินอาหาร
– ในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี อาจหายใจเร็วหรือหายใจมีเสียงหวีด
– ผู้สูงอายุอาจมีอาการเล็กน้อย แต่อาจมีอาการสับสนหรืออุณหภูมิร่างกายต่ำกว่าปกติ
สาเหตุของโรคปอดอักเสบ
“โรคปอดอักเสบเกิดขึ้นเมื่อเชื้อโรคเข้าไปในปอดทำให้ปอดเกิดการติดเชื้อ ปฏิกิริยาของระบบภูมิคุ้มกันร่างกายเพื่อต่อสู้กับการติดเชื้อส่งผลให้เกิดถุงลมในปอดอักเสบ การอักเสบนี้อาจทำให้ถุงลมเต็มไปด้วยหนองและของเหลว ทำให้เกิดอาการปอดอักเสบ
โรคปอดอักเสบสามารถเกิดได้ทั้งจากแบคทีเรีย ไวรัส และเชื้อรา”
ปัจจัยเสี่ยง
ทุกคนสามารถเป็นโรคปอดอักเสบได้ แต่มีกลุ่มคนบางกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดโรคมากกว่าปกติ ได้แก่:
– ทารกตั้งแต่แรกเกิดถึง 2 ปี
– ผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป
– ผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอเนื่องจาก การตั้งครรภ์ ติดเชื้อไวรัสเอชไอวี หรือใช้ยาบางชนิด เช่น สเตียรอยด์หรือยารักษามะเร็งบางชนิด
– ผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง เช่น โรคหอบหืด โรคปอดเรื้อรัง โรคเบาหวาน โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคหัวใจล้มเหลว โรคตับ โรคไต เป็นต้น
– ผู้ที่เพิ่งเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล หรือกำลังรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ใช้เครื่องช่วยหายใจ
– ผู้ที่มีความผิดปกติทางสมอง ซึ่งส่งผลต่อความสามารถในการกลืนหรือไอ เช่น โรคหลอดเลือดสมอง บาดเจ็บที่ศีรษะ ภาวะสมองเสื่อม โรคพาร์กินสัน
– ผู้ที่สัมผัสกับสารก่อการระคายเคืองต่อปอดเป็นประจำ เช่น มลพิษทางอากาศและควันพิษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งขณะทำงาน
– ผู้ที่อาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่แออัด เช่น เรือนจำหรือบ้านพักคนชรา
– ผู้ที่สูบบุหรี่ ซึ่งทำให้ร่างกายกำจัดเสมหะในทางเดินหายใจได้ยากขึ้น
– ผู้ที่ใช้ยาหรือดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมาก ซึ่งจะทำให้ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอลง และการใช้ยาบางชนิดที่ส่งผลให้ง่วงนอน ทำให้เพิ่มโอกาสที่จะสำลักน้ำลายหรืออาเจียนเข้าไปในปอดได้มากขึ้น
การวินิจฉัยโรค
แพทย์จะเริ่มต้นด้วยการซักประวัติ ตรวจร่างกาย รวมถึงการฟังปอดเพื่อหาเสียงผิดปกติ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการและความเสี่ยงของภาวะแทรกซ้อน แพทย์อาจสั่งตรวจเพิ่มเติม ได้แก่ เอ็กซ์เรย์ปอด ตรวจเลือด ตรวจเสมหะ เป็นต้น
การรักษา
การรักษาขึ้นอยู่กับประเภทของโรคปอดอักเสบที่เป็นอยู่ ความรุนแรงและโรคร่วมอื่นๆ
แพทย์อาจสั่งจ่ายยาปฏิชีวนะในรูปแบบรับประทานสำหรับอาการปอดอักเสบ ซึ่งยาปฏิชีวนะส่วนใหญ่สามารถรักษาโรคปอดอักเสบจากแบคทีเรียได้ ควรกินยาปฏิชีวนะให้ครบคอร์สเสมอ แม้ว่าจะเริ่มรู้สึกดีขึ้นแล้วก็ตาม ซึ่งหากกินไม่ครบตามแพทย์สั่ง เชื้ออาจถูกกำจัดออกจากร่างกายไม่หมด และการรักษาจะหายได้ยากขึ้นในอนาคต
ยาปฏิชีวนะไม่สามารถใช้ได้กับโรคปอดอักเสบจากเชื้อไวรัส แพทย์อาจสั่งยาต้านไวรัส และบางครั้งโรคปอดอักเสบจากเชื้อไวรัสสามารถหายได้เองจากการรักษาตัวที่บ้าน
ยาต้านเชื้อราใช้ในการรักษาโรคปอดอักเสบจากเชื้อรา ซึ่งโดยปกติแล้วการรักษาจะใช้เวลาหลายสัปดาห์เพื่อกำจัดเชื้อ
ปอดติดเชื้อหายเองได้ไหม และกี่วันหาย
การรักษาโรคปอดอักเสบเกี่ยวข้องกับการรักษาภาวะติดเชื้อและป้องกันภาวะแทรกซ้อน ผู้ที่เป็นโรคปอดอักเสบชุมชนสามารถรักษาที่บ้านได้ด้วยยา แม้ว่าอาการส่วนใหญ่จะบรรเทาลงในสองสามวันหรือหลายสัปดาห์ แต่ความรู้สึกเหนื่อยล้าอาจคงอยู่เป็นเวลาหนึ่งเดือนหรือมากกว่านั้น
หากอาการปอดอักเสบรุนแรงมากหรือมีปัญหาสุขภาพอื่นๆ ร่วมด้วย อาจต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ซึ่งแพทย์สามารถติดตามอัตราการเต้นของหัวใจ อุณหภูมิ และการหายใจได้ และอาจได้รับยาปฏิชีวนะฉีดเข้าเส้นเลือด และได้รับออกซิเจน เป็นต้น
โรคแทรกซ้อน
หากมีโรคปอดอักเสบแล้วไม่รักษาอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้
ภาวะแทรกซ้อนมักเกิดขึ้นโดยเฉพาะในผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอหรือมีโรคเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน
ภาวะแทรกซ้อนอาจรวมถึง:
1. อาการของโรคเรื้อรังแย่ลง หากผู้ป่วยมีปัญหาสุขภาพบางอย่างอยู่แล้ว โรคปอดอักเสบอาจทำให้อาการแย่ลงได้ รวมถึงภาวะหัวใจล้มเหลว ในบางรายอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจวาย
2. การติดเชื้อในกระแสเลือด โดยแบคทีเรียจากการติดเชื้อปอดอักเสบอาจแพร่กระจายไปยังกระแสเลือด ซึ่งสามารถนำไปสู่ความดันโลหิตต่ำจนเป็นอันตราย เกิดภาวะช็อกจากการติดเชื้อ และในบางกรณี อวัยวะภายในทำงานล้มเหลว
3. ฝีในปอดจากปอดมีหนอง การใช้ยาปฏิชีวนะสามารถรักษาได้ แต่บางครั้งอาจต้องระบายหรือผ่าตัดเอาหนองออก
4. ภาวะหายใจลำบาก ผู้ป่วยอาจมีปัญหาในการได้รับออกซิเจนอย่างเพียงพอ อาจต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ
5. ภาวะหายใจลำบากเฉียบพลัน ซึ่งเป็นรูปแบบที่รุนแรงจากการเกิดภาวะการหายใจล้มเหลว เป็นเหตุฉุกเฉิน ควรได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน
6. ภาวะน้ำในช่องเยื่อหุ้มปอด หากไม่รักษาโรคปอดอักเสบ อาจมีของเหลวรอบๆ ปอดในเยื่อหุ้มปอด เยื่อหุ้มปอดเป็นเยื่อบาง ๆ ที่อยู่ด้านนอกของปอดและด้านในของซี่โครง ของเหลวดังกล่าวอาจติดเชื้อและจำเป็นต้องระบายออก
7. ไต หัวใจ และตับถูกทำลาย อวัยวะเหล่านี้อาจเสียหายหากไม่ได้รับออกซิเจนเพียงพอ หรือหากเกิดปฏิกิริยาต่อระบบภูมิคุ้มกันมากเกินไป
8. เสียชีวิต ในบางกรณี โรคปอดอักเสบอาจถึงแก่ชีวิตได้ จากข้อมูลของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคในสหรัฐอเมริกา (CDC) ในปี 2562 ผู้ป่วยเกือบ 44,000 คนในสหรัฐอเมริกาเสียชีวิตจากโรคปอดอักเสบ
การป้องกันโรคปอดอักเสบ
โรคปอดอักเสบสามารถป้องกันได้
การฉีดวัคซีนป้องกันโรคปอดอักเสบ
มีวัคซีนหลายชนิดที่ช่วยป้องกันโรคปอดอักเสบได้ ตัวอย่างเช่น วัคซีน Prevnar 13 และ Pneumovax 23
วัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่
โรคปอดอักเสบมักเป็นอาการแทรกซ้อนของไข้หวัด ดังนั้นควรฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่เป็นประจำทุกปีด้วย โดยแนะนำให้ทุกคนที่มีอายุตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไปรับการฉีดวัคซีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่อาจมีความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนของโรคไข้หวัดใหญ่
อย่างไรก็ตาม วัคซีนป้องกันโรคปอดอักเสบไม่สามารถป้องกันได้ 100% แต่หากได้รับวัคซีน ก็จะมีแนวโน้มที่จะมีอาการเจ็บป่วยน้อยลงและสั้นลง รวมถึงความเสี่ยงที่จะเกิด
ภาวะแทรกซ้อนน้อยลงด้วย
เคล็ดลับการป้องกันโรคปอดอักเสบอื่น ๆ
นอกจากการฉีดวัคซีนแล้ว ยังมีสิ่งอื่นๆ ที่สามารถทำได้ เช่น
– เลิกบุหรี่ การสูบบุหรี่ทำให้มีโอกาสติดเชื้อทางเดินหายใจได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะโรคปอดอักเสบ
– ล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่และน้ำอย่างน้อย 20 วินาที เพื่อกำจัดเชื้อโรค
– ปิดปากเวลาไอและจาม ทิ้งทิชชู่ที่ใช้แล้วทันที
– มีวิถีชีวิตที่มีสุขภาพดีเพื่อเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน พักผ่อนอย่างเพียงพอ กินอาหารให้สมดุล และออกกำลังกายสม่ำเสมอ
โรคปอดอักเสบ หรือปอดบวม (Pneumonia) อ่านบทความเพิ่มเติมคลิ๊กที่นี่ https://doctorathome.com/disease-conditions/151