เมื่อนึกถึงการออกแบบบ้านสำหรับผู้สูงอายุ เรามักนึกถึงหลักการต่าง ๆ ของ Universal Design ทั้งขนาดสัดส่วน ทางลาดเอียง อุปกรณ์เสริมสำหรับช่วยให้การใช้ชีวิตของผู้สูงอายุเป็นไปอย่างราบรื่น ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่นักออกแบบบ้านจำเป็นต้องออกแบบให้รองรับและสอดคล้องกับการอยู่อาศัย
แต่การใช้ชีวิตจริงในแต่ละวัน ยังจำเป็นต้องอาศัยบริบทภาพรวมต่าง ๆ เพราะบ้าน ไม่ได้เป็นเพียงแค่สิ่งปลูกสร้าง แต่บ้านเป็นที่อยู่อาศัยซึ่งต้องมีความรู้สึกร่วม และด้วยอารมณ์ความรู้สึกของผู้สูงอายุมีความอ่อนไหวมากกว่าวัยปกติ (วัยทอง) รวมทั้งร่างกายที่เสื่อมถอยย่อมต้องอาศัยการดูแลอย่างใกล้ชิด Universal Design จึงอาจไม่เพียงพอต่อความต้องการ บ้านสำหรับผู้สูงอายุยังต้องมีส่วนประกอบใดอีกบ้าง อ่านกันต่อเลยครับ
1. รู้สึกอุ่นใจ ปลอดภัย
สภาพแวดล้อมของชุมชนโดยรวม ต้องไม่อยู่ในย่านเสื่อมโทรมหรือย่านที่เกิดเหตุขโมย เหตุอาชญากรรมบ่อยครั้ง เมื่อขับรถเข้าหมู่บ้านให้ความรู้สึกปลอดภัย อุ่นใจ และต้องไม่อยู่ในทำเลเปลี่ยวห่างไกลจากชุมชนมากเกินไป การอยู่อาศัยในทำเลเปลี่ยวจะให้ความรู้สึกวังเวง กังวลใจในช่วงกลางคืน อาจทำให้ผู้สูงอายุเกิดวิตกกังวลได้
2. ทำเลใกล้โรงพยาบาล
ร่างกายของผู้สูงอายุเสื่อมถอยไปตามกาลเวลา มักพบปัญหาโรคภัยอยู่เสมอ และเมื่อมีโรคประจำตัวหมอจะนัดตรวจสุขภาพบ่อยครั้ง ทำเลในการสร้างบ้านจึงควรอยู่ไม่ห่างกับโรงพยาบาลมากนัก เพื่อให้การเดินทางสะดวก รวดเร็ว และทันต่อการรักษาในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน นอกจากจะช่วยให้ผู้สูงอายุสะดวกแล้ว ยังส่งผลดีต่อผู้ดูแลอีกด้วยครับ
3. พื้นที่สวน พื้นที่ธรรมชาติ
ช่วงเวลาส่วนใหญ่ของคนหนุ่มสาว เป็นช่วงเวลางานซึ่งต้องอยู่นอกบ้าน แต่ผู้สูงอายุเป็นวัยเกษียณเวลาส่วนใหญ่ต้องอาศัยภายในบ้าน แม้บ้านจะกว้างโปร่งแค่ไหน อยู่นาน ๆ ไปย่อมรู้สึกอึดอัด พื้นที่สวนรอบบ้านจึงเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้ผู้สูงอายุได้เกิดกิจกรรมเสริม การจัดสวน ปลูกผัก เป็นกิจกรรมภายในบ้านที่ทำให้ผู้สูงอายุรู้สึกผ่อนคลาย หรือหากเลือกทำเลบ้านใกล้สวนสาธารณะให้ผู้สูงอายุได้เดินออกกำลังกาย ได้พบปะกับเพื่อนวัยเดียวกัน ย่อมส่งผลต่อสุขภาพร่างกายและจิตใจที่ดีครับ
4. บ้านดูอบอุ่น ไม่เหงา
ขนาดสัดส่วนของบ้านผู้สูงอายุ จำเป็นต้องตรงตามมาตรฐาน Universal Design ทั้งทางลาดชัน ความกว้างสำหรับรถเข็ญ และอุปกรณ์เสริมต่าง ๆ ส่วนนี้เป็นส่วนรูปธรรมที่จับต้องได้ แต่ส่วนของนามธรรมด้านอารมณ์ ความรู้สึก เป็นสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน บ้านควรต้องออกแบบให้ดูโปร่งสบาย น่าอยู่ ให้ความรู้สึกอบอุ่น ไม่วังเวง ควรมีช่องหน้าต่างที่สามารถเปิดแล้วมองเห็นเพื่อนบ้าน มีมุมพักผ่อนไว้สำหรับอ่านหนังสือ ทำกิจกรรมให้เกิดความเพลิดเพลินใจ
5. ครอบครัว ผู้ดูแล เพื่อนบ้าน
ความรู้สึกลึก ๆ ของผู้สูงอายุสิ่งสำคัญอาจไม่ใช่บ้าน แต่คือสมาชิกภายในครอบครัวที่มาอยู่ร่วมกัน เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้รู้สึกอุ่นใจและปลอดภัย แม้บ้านจะอยู่ในทำเลเปลี่ยว แต่หากมีลูก ๆ คอยดูแลอย่างใกล้ชิด ผู้เป็นพ่อ แม่ ย่อมคลายกังวล บ้านผู้สูงอายุที่ดีจึงเป็นบ้านที่พร้อมหน้าพร้อมตา หากครอบครัวไหนจำเป็นต้องแยกกันอยู่เพื่อความเป็นส่วนตัว ควรเลือกทำเลบ้านที่อยู่ใกล้กัน เพื่อที่จะได้ไปมาหาสู่ได้อย่างสะดวกยิ่งขึ้น หรือหากเป็นไปได้ ก่อนเลือกซื้อที่ดินสร้างบ้าน ควรเลือกซื้อที่ดินเผื่อไว้ ต่อไปในวันข้างหน้าเราทุกคนต้องเข้าสู่วัยผู้สูงอายุ อนาคตลูก ๆ ของจะได้มีพื้นที่สร้างบ้านใกล้กัน เตรียมพร้อมไว้ก่อนครับ
เพราะบ้าน ไม่ได้เป็นเพียงสิ่งปลูกสร้าง แต่บ้านยังเป็นแหล่งรวมความทรงจำและความรู้สึกดี ๆ ร่วมกัน การออกแบบบ้านให้เหมาะสมกับวัยอาจช่วยให้เกิดการใช้งานที่สะดวก ส่วนบ้านที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความรักของคนในครอบครัว ย่อมช่วยให้ผู้อยู่อาศัยเป็นสุขใจ
5 สิ่งไม่ควรมองข้าม สร้างบ้านเพื่อผู้สูงวัย อ่านบทความเพิ่มเติมคลิ๊กที่นี่ https://techwealth99.com/